เกาะเกร็ด
เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดลำน้ำเจ้าพระยา ตรงที่มีแหลมยื่นไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2265 เรียกคลองนี้ว่า
คลองลัดเกร็ดน้อย (คลองลัดเกร็ดใหญ่ อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก) ขนาดกว้าง 6 วา ยาว 39 เส้นเศษ ลึก 6 ศอก ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางทำให้คลองขยายกว้างขึ้น เพราะถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพังจึงกลายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด และกัดเซาะจนมีสภาพเป็นเกาะเช่นทุกวันนี้
เมื่อลำคลองกว้างขึ้น สภาพความเป็นเกาะเด่นชัดขึ้น จึงเกิดเกาะ แต่ชื่อที่เรียกกันนั้นชั้นแรกนั้นเรียกว่า
เกาะศาลากุน ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดินที่ออกในสมัยรัชกาลที่ 5 เกาะศาลากุนนี้เรียกตามชื่อวัดศาลากุน สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากผู้สร้างถวายชื่อ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ที่สมุหนายกรับราชการ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้ว เกาะศาลากุนจึงได้มีฐานะเป็นตำบลและเรียกว่า ตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงชื่อว่า
เกาะเกร็ด จนถึงปัจจุบัน
สถานที่น่าสนใจในเกาะเกร็ด
วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เป็นวัดอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อ วัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถูกทิ้งเป็นวัดร้างหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์ (เถ้า) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น ได้สร้างพระเจดีย์ทรงรามัญ ชื่อเจดีย์ร่างกุ้ง รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ และท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้
พ.ศ. 2417 วันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐิน ณ วัดปากอ่าวและวัดใกล้เคียง ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดซึ่งเสนาสนะต่างปรักหักพังทรุดโทรม ทรงคำนึงถึงพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งอภิบาลบำรุงพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีรับสั่งอยู่เนืองๆ ว่าถ้าทรงพระเจริญขึ้นแล้วขอให้ทรงช่วยให้ได้สร้างพระอารามหนึ่ง จึงทรงกำหนดจะปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว และทรงมีพระราชดำรัสต่อพระคุณวงศ์ (สน) เจ้าอาวาสให้ทราบพระราชประสงค์ และทรงนำพระราชดำริกราบทูลแด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งทรงพระปิติปราโมทย์เมื่อได้ทรงทราบเช่นนั้น
การปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว มีพระยาอัศนีศาภัยจางวาง กรมพระแสงปืนต้นเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ เริ่มทำกุฏิสงฆ์และหอไตรแบบมอญ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาก่อฤกษ์พระอุโบสถใหม่ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (ต้นราชสกุลกฤดากร) เป็นนายกอง พระราชสงคราม (ทัด) เป็นช่างทำพระอารามที่สร้างใหม่ทั้งหมด คงรูปแบบมอญไว้ เนื่องจากเป็นวัดมอญ ทรงโปรดให้สร้างพระไตรปิฎก เป็นภาษามอญ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระยาลักษณ์จารึกเรื่องทรงพระอารามนี้ลงในเสาศิลาเป็นอักษรไทยเสาหนึ่ง และพระสุเมธาจารย์แปลเป็นภาษามอญ และทรงโปรดให้จารึกเป็นภาษามอญอีกเสาหนึ่ง จารึกทั้งอักษรไทยและอักษรมอญอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามนี้ใหม่ว่า
วัดปรมัยยิกาวาส
ศิลปกรรมวัดปรมัยยิกาวาส
พระอุโบสถ พระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีขนาดยาว 9 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 7 ห้อง เฉลียงปูศิลาขาว ศิลาดำ ลาดพระอุโบสถปูศิลารอบพระอุโบสถ มีรั้วเหล็ก บานประตูเหล็ก ซึ่งเป็นเหล็กชั้นดีที่สั่งจากยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลวดลายสวยงาม ซุ้มเสมาใหญ่ ฐานกว้าง 2 วา 4 เหลี่ยม อยู่ในมุมทั้ง 4 ทิศ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีพระหัตถ์หม่อมเจ้าพระวิช ในพระเจ้าราชวงศ์เธอกรมขุนราชศีหวิกรม เป็นภาพแสดงเรื่องธุดงวัตร 13 และพุทธประวัติโดยเฉพาะ พระพุทธกิจหลังการตรัสรู้ (พระพุทธจรรยา) เป็นพระวินัยของพระสงฆ์เกี่ยวกับผ้าจีวร 2 บท เกี่ยวกับภัตตาหาร 5 บท เสนาสนะ 5 บท และเกี่ยวกับความเพียร 1 บท ตกแต่งภายในด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก จึงมีลักษณะของศิลปะตะวันออกผสมกลมกลืนกับตะวันตกอย่างงดงาม
ด้านหน้าพระอุโบสถมีคำจารึกหินอ่อนทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของประตูพระอุโบสถ เป็นคำโคลงสี่สุภาพกล่าวถึงประวัติการบูรณะพระอารามวัดปากอ่าวเดิมจนแล้วเสร็จ แล้วพระราชทานนามวัดว่า
วัดปรมัยยิกาวาส หน้าบันพระอุโบสถประดับตราพระเกี้ยว
ศาลารับเสด็จ
ศาลารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดปรมัยยิกาวาสเพื่อสนองพระเดชพระคุณพระบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลสมเด็จพระเทพศิรินทรพระบรมราชชนนีและพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
การปฏิสังขรณ์เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2417 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2427 พระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ว่า
วัดปรมัยยิกาวาส พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างศาลาหน้าพระอุโบสถ สำหรับเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 ทรงประทับเยี่ยมราษฎรชาวไทยและชาวรามัญที่อาศัยที่อำเภอปากเกร็ด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงประทับทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวมอญอย่างสนพระทัยอย่างยิ่ง ณ ศาลารับเสด็จนี้ จากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ดด้วย